วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักศึกษา วชช.พังงา หน่วยจัดการศึกษาคุระบุรี เข้าร่วมกิจกรรม "จะฟื้นคลองเรา ด้วยไม้เรา เพื่อพวกเรา"

อาจารย์สายันต์ ปานบุตร นำนักศึกษาสาขาการปกครองท้องถิ่น รุ่นปี 2552 ที่เรียนรายวิชาการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน  เข้าร่วมกิจกรรม "จะฟื้นคลองเรา ด้วยไม้เรา เพื่อพวกเรา" ของชุมชนบ้านบางซอย ม.7 ตำบลคุระ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ในวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2554  ณ ชุมชนบ้านบางซอย





วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันแม่ 12 สิงหามหาราชินี 2554

หน่วยจัดการศึกษาคุระบุรี วชช.พังงา เข้าร่วมกิจกรรมงานวันแม่ 12 สิงหามหาราชินี ประจำปี 2554 ณ หอประชุมอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา นำโดย อ.สายันต์ ปานบุตร หัวหน้าหน่วยจัดการศึกษา มีข้าราชการ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วม ประมาณ 150 คน





วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

พิธีประสาทอนุปริญญาบัตร วชช.พังงา ปีการศึกษา 2553

วชช.พังงา จัดพิธีประสาทอนุปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2553 ในวันที่ 11 เมษายน 2554 มี พณฯพลากร สุวรรณรัตน์ เป็นประธานในพิธีมอบ


















วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เวทีวิเคราะห์ข้อมูลการกระจายตัวของชนิดพันธ์ไม้และทิศทางการไหลของกระแสน้ำคลองนางย่อน

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 เครือข่าย สกว.พังงา ได้จัดเวทีเพื่อวิเคราะห์ผลการวิจัยท้องถิ่น ของกลุ่มนักวิจัยชุมชน หมู่ที่ 7 ตำบลคุระ ณ หน่วยจัดการศึกษาคุระบุรี วชช.พังงา  เกี่ยวกับการกระจายตัวของชนิดพันธ์ไม้และทิศทางการไหลของกระแสน้ำคลองนางย่อน โดยมีอาจารย์สายันต์ ปานบุตร และบุคลากรของหน่วยจัดการศึกษาคุระบุรีเข้าร่วมในเวทีวิเคราะห์ข้อมูล

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การศึกษาความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษา สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนพังงา ปีการศึกษา 2552

ชื่อโครงการวิจัย         การศึกษาความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษา
                                       สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนพังงา  ปีการศึกษา 2552
ผู้ทำการวิจัย                 ว่าที่ร.ต. สายันต์  ปานบุตร      หัวหน้าโครงการวิจัย
ปีที่ทำการวิจัย             พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ

                การศึกษาความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษา สาขาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนพังงา ปีการศึกษา 2552  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงา สาขาการปกครองท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบ 3 ด้านคือ ด้านความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ/วิชาชีพ  ด้านคุณธรรม จริยธรรม  และด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นายจ้าง ผู้ประกอบการหรือหัวหน้างานที่ผู้สำเร็จการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนพังงาเข้าไปทำงาน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจของสถานประกอบการที่ใช้แรงงานผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงา จำนวน 25 ชุด ในช่วงเดือนเมษายน 2553 โดยได้รับความร่วมมือตอบแบบสอบถามจำนวน 22 ชุด คิดเป็นร้อยละ 88.00

ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง  มีอายุอยู่ในช่วงอายุ 46-50 ปี มากที่สุด  ทำงานในส่วนราชการมากที่สุด และลักษณะของงานที่ผู้สำเร็จการศึกษาปฏิบัติ คือ ด้านกฎหมาย ปกครอง มากที่สุด  และผลการศึกษาด้านความพึงพอใจเกี่ยวกับความรู้  ความสามารถและคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงา พบว่า นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงาในระดับดี  ค่าเฉลี่ย 3.88 นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษามากที่สุดในด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่าเฉลี่ย 3.99 อันดับรองลงไป คือ ด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน ค่าเฉลี่ย 3.88 และอันดับที่สามได้แก่ ด้านความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ/วิชาชีพ  ค่าเฉลี่ย  3.72  นายจ้าง/ผู้ประกอบการ มีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงาในระดับดีทุกด้าน สำหรับคุณลักษณะย่อยที่นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนพังงามากที่สุด ได้แก่ ความมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน ความมีบุคลิกภาพที่ดีแต่งกายเหมาะสม และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สำหรับคุณลักษณะย่อยที่นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาน้อยที่สุด ได้แก่ ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร มีความรู้ความเข้าใจด้านองค์กรและการจัดการ  และการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาความต้องการการศึกษาของชุมชนในจังหวัดพังงา กรณีศึกษาอำเภอคุระบุรี

เรื่อง                       การศึกษาความต้องการการศึกษาของชุมชนในจังหวัดพังงา
                         กรณีศึกษาอำเภอคุระบุรี
คณะผู้วิจัย            ว่าที่ร้อยตรีสายันต์ ปานบุตร   หัวหน้าโครงการวิจัย 
ปีที่ทำการวิจัย      พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ

                การศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาความต้องการการศึกษาของชุมชนในจังหวัดพังงา กรณีศึกษาอำเภอคุระบุรี ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทโดยทั่วไปของชุมชนในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา  ด้านความต้องการการศึกษาและการฝึกอาชีพของประชาชนในชุมชนอำเภอคุระบุรี และเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนพังงาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนจังหวัดพังงา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนในอำเภอคุระบุรี ได้แก่ ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว ตำบลบางวัน ตำบลเกาะพระทอง และเทศบาลตำบลคุระ รวมทั้งสิ้นจำนวน  75 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่จัดทำขึ้นจากการดำเนินการจัดเวทีประชาคมของอำเภอคุระบุรี

ผลการวิจัยพบว่า  
1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
    ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สถานภาพสมรส มีอายุเฉลี่ย 34 ปี อาศัยอยู่ในเขตตำบลคุระ มีการศึกษาสูงสุดอยู่ที่ระดับมัธยมศึกษา/ปวช. นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท
2. ผลการศึกษาความต้องการการศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรอนุปริญญา
              ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการศึกษาในระดับอนุปริญญาสาขาการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด รองลงมาคือสาขาการจัดการทั่วไป คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การศึกษาปฐมวัย และการพัฒนาชุมชน ตามลำดับ โดยช่วงเวลาที่ต้องการเรียนหลักสูตรอนุปริญญามากที่สุด คือ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และสาเหตุสำคัญในการศึกษาต่อที่วิทยาลัยชุมชนพังงา คือ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ รองลงมาคือเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
3. ความต้องการการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น
              ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเรียนหลักสูตรระยะสั้นสาขาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นมากที่สุด รองลงมาคือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) การทำอาหารและขนม กฎหมายเบื้องต้นสำหรับประชาชน ตามลำดับ  ต้องการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น 60 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่ต้องการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น คือ วันเสาร์-อาทิตย์ (08.00-16.00 น.) และสาเหตุสำคัญที่เลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่วิทยาลัยชุมชนพังงา คือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือเพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะในการประกอบอาชีพ

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

หลักสูตรระยะสั้นการทำผ้าบาติก

หน่วยจัดการศึกษาคุระบุรี วชช.พังงา จัดฝึกอบรมการทำผ้าบาติก ให้กับประชาชนในบ้านบางติบ ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จำนวน 20 ชั่วโมง ในระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2554 มีประชาชนเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 23 คน